คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีชุมชนเพื่อการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมด้วยเทคนิค AIC |
ศูนย์ข่าวร่วมด้วยช่วยชาวบ้าน ฮอต นิวส์ ขอนแก่น |
วันอาทิตย์ ที่ 4 เมษายน 2564 ณ บ้านหนองไผ่ ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ศึกษาและจัดเวทีชุมชนเพื่อวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมด้วยเทคนิค AIC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา การศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาการเกษตร นำโดย ผศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.ยศ บริสุทธิ์ และผศ.ดร.อรุณี พรมคำบุตร ในการจัดเวทีครั้งนี้ โดยมีเกษตรกรและเยาวชนในชุมชนเข้าร่วมจัดเวทีฯและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ชุมชนฯ จำนวน 30 คน
ผศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมด้วยเทคนิค AIC ในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยขั้นตอนการสร้างความรู้ (Appreciation : A) โดยใช้การ วาดรูปเป็นสื่อในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์สภาพการของชุมชนในปัจจุบันและการกำหนดอนาคตหรือวิสัยทัศน์ อันเป็นภาพพึงประสงค์ในการพัฒนาว่าต้องการอย่างไร ขั้นตอนต่อไปเป็นการสร้างแนวทางการพัฒนา (Influence : I) ตามที่ได้สร้างภาพพึงประสงค์ หรือที่ได้ช่วยกันกำหนด วิสัยทัศน์ (A) เป็นขั้นตอนที่จะต้องช่วยกันหามาตรการ วิธีการ และค้นหาเหตุผลเพื่อกำหนดทางเลือกในการพัฒนา กำหนดเป้าหมาย กำหนดกิจกรรม และจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามภาพพึงประสงค์ ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของชุมชนจาก 37 โครงการ เป็น 5 โครงการ โดยการโหวตสามารถเรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
1. โครงการโดมหมู่บ้าน
2. โครงการขยายเขตไฟฟ้าไปยังพื้นที่การเกษตร
3. โครงการพัฒนาสวนสาธารณะเพื่อสุขภาพ
4. โครงการเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชน และ
5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนเพื่อส่งออก ซึ่งอาจจะเป็นโครงการที่ชุมชนทำเองได้ หรือโครงการที่บางส่วนต้องการความร่วมมือ/การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่ร่วมทำงานสนับสนุนอยู่ หรือโครงการกิจกรรมที่หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องขอความร่วมมือ เช่น ดำเนินการจากแหล่งอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน และสุดท้ายขั้นตอนการสร้างแนวทางปฏิบัติ (Control : C) คือการยอมรับและทำงานร่วมกันโดยนำเอาโครงการต่าง ๆ มาสู่การปฏิบัติ และจัดกลุ่มผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งกระบวนการ AIC ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการระดมแนวคิดที่สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และเสริมพลังของชุมชนบ้านหนองไผ่ โดยเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ นำเสนอความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงสภาพปัญหา ความต้องการ ข้อจำกัด และศักยภาพของชุมชน เป็นกระบวนการที่ช่วยให้มีการระดมพลังสมอง ในการศึกษาวิเคราะห์พัฒนาทางเลือกเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้เกิดการตัดสินใจร่วมกัน เกิดเป็นพลังของการสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อการพัฒนาชุมชนบ้านหนองไผ่ในอนาคตต่อไป
ศูนย์ข่าวร่วมด้วยช่วยชาวบ้าน ฮอต นิวส์ ขอนแก่น |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น