วัดพิชัยพัฒนาราม ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ |
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่สอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาเลิกราไปในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ และมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ปัจจุบันนิยมทำกันในทุกภาคของประเทศไทย โดยภาคกลางนิยมจัดทำกันในวันวิสาขบูชา แต่ในภาคอีสานนิยมทำกันในวันก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑
จากความเชื่อในครั้งพุทธกาลที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธองค์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ของวิเศษ เมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็นสิริมงคลกับตนเอง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันจากชาวบ้าน จึงจะสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ณ วัดพิชัยพัฒนาราม ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งวัดที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีกวนข้าวทิพย์ และทำสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง โดยมี พระครูปริยัติปัญญาทร เจ้าอาวาสวัดพิชัยพัฒนาราม เจ้าคณะตำบลวังชัย ร่วมกับชาวบ้าน บ้านวังชัย ที่ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์
พระครูปริยัติปัญญาทร เจ้าอาวาสวัดพิชัยพัฒนาราม เจ้าคณะตำบลวังชัย |
การกวนข้าวทิพย์โดยปกติกวนในวัด วัดที่จะกวนต้องเตรียมการหลายอย่างดังนี้
๑. สถานที่ บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์อาจจะทำเป็นปะรำพิธี โดยโยงด้ายสายสิญจน์จากพระประธานมายังปะรำพิธี ซึ่งวงด้ายสายสิญจน์เป็นสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ตั้งฉัตร ๗ ชั้น ขันหมากเบ็งเป็นเครื่องสักการบูชา
๒. อุปกรณ์การกวนข้าวทิพย์ ได้แก่ เตา ฟืน กระทะ ใบบัว ไม้พาย
๓. เด็กหญิงพรหมจารีที่ยังไม่เป็นประจำเดือนนุ่งขาว ห่มขาว กระทะละ ๒ คน แล้วแต่จะกวนที่กระทะ
๔. วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบ ปกติวัตถุดิบเป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งใช้ในการกวนข้าวทิพย์ที่ชาวบ้านนำมารวมเตรียมไว้จะประกอบด้วย นํ้านมข้าว ข้าวเม่า มะพร้าว นํ้าอ้อย นํ้าตาล แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เผือก งา มันเทศ มันสาคู นํ้าผึ้ง ฟักทอง ข้าวตอก นมสด นมข้น เนย กล้วย ข้าวโพด ใบเตย นํ้าลอย ดอกมะลิ พืชหรือผลผลิตจากพืชทุกชนิดที่ใช้ทำขนมได้ นำมากวนรวมกันเป็นข้าวทิพย์ได้ บางแห่งเรียกว่า ข้าวสำปะปิ หมายถึง การนำของหลายอย่างมารวมกันจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร
๕. เตรียมของทุกอย่างให้พร้อมที่จะกวน เช่น มะพร้าวก็คั้นเอากะทิ ถั่วต่าง ๆ คั่วแล้วบดให้ละเอียด เผือกมัน ฟักทองนึ่งให้สุกบดเตรียมไว้ ใบเตยโขลกให้ละเอียด กรองเอานํ้า นำของทุกอย่างมาผสมกัน ส่วนนํ้าตาล นํ้าอ้อยจะใส่ทีหลัง อัตราส่วนนั้นจะมีผู้ชำนาญการคอยดูแลว่าจะใส่อะไรมากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละวัดจะกวนจำนวนมากหลายกระทะ นอกจากถวายพระสงฆ์แล้วยังต้องให้พอแจกจ่ายกันทุกครัวเรือนในหมู่บ้านและผู้ที่มาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคล
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วพิธีการจะเริ่มประมาณ ๔ โมงเย็น ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทอิติปิโส เด็กหญิงพรหมจารีจะลุกไปยังบริเวณพิธีกับผู้เชี่ยวชาญ ส่วนคนอื่นจะเข้าไปไม่ได้ เด็กหญิงจะเป็นผู้เริ่มทำทุกอย่างตั้งแต่ก่อไฟ ยกกระทะขึ้นตั้งเตาไฟแล้วเริ่มกวน กวนไปประมาณ ๑๐ นาที ก็เป็นการเสร็จพิธีการ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันกวน โดยผลัดกันตลอดเวลาแต่ละกระทะจะใช้ประมาณ ๓๐ - ๔๐ นาที ถ้ากระทะใหญ่อาจใช้เวลามากขึ้น ขณะกำลังข้นก็จะใส่เนย ข้าวเม่า นํ้าตาล นํ้าอ้อย พอสุกได้ที่ ข้าวจะออกเป็นสีนํ้าตาลไหม้แล้วนำไปเทลงถาดที่เตรียมไว้ และโรยหน้าด้วยถั่วงา วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ มีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ถวายข้าวทิพย์แด่พระสงฆ์และแจกจ่ายแบ่งปันให้กับผู้ที่มาร่วมงาน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มบุญกันทั่วหน้าเป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีกวนข้าวทิพย์แม้จะเป็นพิธีการของพราหมณ์ แต่ก็นำมาประยุกต์กับวิถีพุทธได้อย่างลงตัวสามารถเสริมศรัทธา การเสียสละ ความสามัคคีในชุมชนได้อย่างดี จึงเห็นสมควรที่คนรุ่นหลังจะช่วยกันหนุนเสริมให้มรดกแห่งปัญญาธรรมนี้ควรอยู่สืบไป
โดย:ศูนย์ข่าวร่วมด้วยช่วยชาวบ้าน ฮอต นิวส์ ขอนแก่น
ผู้สื่อข่าว นางสาวชยาภัสร์ แสงมี
ยูทูป: ศูนย์ข่าวร่วมด้วยช่วยชาวบ้าน ฮอต นิวส์ ขอนแก่นเพจ Facebook : ร่วมด้วยช่วยชาวบ้านฮอต นิวส์ ขอนแก่น444/37 ม.20 ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นติตต่อลงโฆษณาประชาสัมพันธ์
โทร 063-4715698,062-9055698 / ID line:0634715698
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น